ลมพิษ เป็นอาการทางผิวหนังอย่างหนึ่งที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 20 – 40 ปี และผู้ป่วยอาจจะเคยมีประวัติการเจ็บป่วยของตัวเองหรือคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน ซึ่งบางรายก็อาจจะเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการเพียงไม่กี่วันก็หายไปเองได้ เมื่อใช้วิธีรักษาโรคลมพิษอย่างถูกต้อง
สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาโรค ลมพิษ อย่างได้ผล
ลมพิษ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยากับสิ่งที่ตัวเองมีอาการแพ้ โดยสร้างสารแพ้ที่เรียกว่า “ฮิสตามีน” ในชั้นใต้ผิวหนัง จึงทำให้หลอดเลือดฝอยมีการขยายตัว ทำให้น้ำเลือดหรือพลาสมาซึมออกมาในผิวหนังจนกลายเป็นผื่นนูนสีแดง โดยสาเหตุของการแพ้นั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ ดังนี้
- อาหารหรือสารเคมีที่ผสมในอาหาร
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ยา วัคซีน และเซรุ่ม
- การสัมผัสสารเคมีในผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ปรุงอาหาร
- พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากการออกกำลังกาย
- ฝุ่นละออง ขนสัตว์ ละอองเกสรจากพืช หรือเส้นใยที่ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม
- ความเครียดวิตกกังวลที่ทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีไปกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนัง จนกระทั่งหลั่งฮิสตามีนออกมา
- โรคบางชนิด เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคเอสแอลอี และระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง เป็นต้น
อาการของโรคลมพิษ
ผู้ที่มีอาการลมพิษจะมีลักษณะเป็นผื่นนูนแดงที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน เนื้อภายในวงนั้นมีความนูนและสีซีดกว่าขอบวงเล็กน้อย โดยสามารถเกิดขึ้นกับส่วนใดของร่างกายก็ได้ และขึ้นแบบกระจายตัวไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง เมื่อมีอาการก็จะทำให้รู้สึกคัน ไม่ว่าจะเกาบริเวณใดจะทำให้มีผื่นแดงตรงนั้นหรืออาจจะลุกลามขึ้นเห่อไปทั่ว แต่จะยุบหายไปเองไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีร่องรอยใดๆ ทิ้งไว้
บางรายอาจจะมีอาการไข้ร่วมด้วย แต่เมื่อใช้วิธีรักษาโรคลมพิษจนหายดีแล้ว ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งขึ้นในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งอื่นๆ ภายในวันเดียวหรือวันหลังก็ได้ และยังสามารถขึ้นติดต่อกันเป็นวันๆ ได้อีกด้วย โดยอาการของลมพิษจะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
- ลมพิษเฉียบพลัน (Acute urticarial) เป็นอาการลมพิษที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งมักพบในเด็กที่มีอายุน้อยๆ โดยมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหาร ยาบางชนิด และการติดเชื้อภายในร่างกาย
- ลมพิษเรื้อรัง (Chronic urticarial) เป็นอาการลมพิษที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง / สัปดาห์ และเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ พบมากในหญิงวัยกลางคน แต่จะไม่พบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นเหมือนกับลมพิษแบบเฉียบพลัน โดยมีอาการเป็นๆ หายๆ ติดต่อกันแทบทุกวัน
ในกรณีที่เป็นลมพิษอย่างรุนแรงที่เรียกว่า “ลมพิษยักษ์” หรือ “แองจิโออีดีมา” (Angioedema) จะมีอาการบวมเกิดขึ้นที่บริเวณหนังตา ริมฝีปาก ลิ้น หู ใบหน้า และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยเป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อชั้นลึกใต้ผิวหนัง ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 – 3 นิ้ว กดแล้วไม่บุ๋มลึกลงไป และทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บมากกว่าอาการคัน หรืออาจรู้สึกแสบร้อนร่วมด้วย แต่ถ้ามีอาการบวมของกล่องเสียงจะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก ตัวเขียว แน่นหน้าอก ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้วิธีรักษาโรคลมพิษอย่างทันท่วงที
วิธีรักษาโรคลมพิษ
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดลมพิษ พยายามหาสาเหตุให้พบว่าตัวเองแพ้อะไรแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ถ้าเป็นอาหารหรือยาให้หยุดหรือเลิกรับประทานเด็ดขาด
- งดรับประทานอาหารปรุงแต่ง มีผลวิจัยบางฉบับที่พบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยลมพิษ จะมีอาการดีขึ้นเมื่องดรับประทานอาหารที่ใช้สารแต่งสี กลิ่น รส และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาสมุนไพรที่ไม่มีความจำเป็นต่อร่างกาย
- รับประทานยาแก้แพ้ เป็นวิธีรักษาโรคลมพิษที่ปลายเหตุ ซึ่งตัวยามีทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้นและยาว โดยจะใช้ยาชนิดใดนั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่มีการตอบสนองต่อผู้ป่วยแตกต่างกันออกไปแต่ละบุคคล รวมถึงลักษณะอาการแพ้ว่ามีความรุนแรงเพียงใด ส่วนกรณีที่เป็นลมพิษยักษ์อาจจะพิจารณาให้ยาฉีดอะดรีนาลิน ยาสเตียรอยด์ และการใส่ท่อช่วยหายใจร่วมกับการใช้ยาแก้แพ้ด้วย
- พกยาติดตัวไว้เสมอ ควรรับประทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่ง รวมถึงพกยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ เนื่องจากถ้ามีอาการจะได้นำมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการได้ทันที
- ไม่เกาผิวหนัง หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาผิวหนังที่เป็นลมพิษ เนื่องจากจะทำให้ผิวหนังมีอาการอักเสบ แต่ถ้ารู้สึกคันมากให้ใช้คาลาไมน์โลชั่นทาบริเวณที่เป็นลมพิษ เพื่อช่วยบรรเทาอาการคัน แต่ไม่ได้ทำให้ผื่นลมพิษหายได้ และยังมีอีกวิธีหนึ่งคือการประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ การดื่มน้ำเปล่าเป็นอีกวิธีรักษาโรคลมพิษที่สามารถช่วยขับพิษออกทางไตในรูปปัสสาวะ และยังเป็นการช่วยทำให้ของเสียออกทางอุจจาระได้มากขึ้นอีกด้วย
- ออกกำลังกายคลายเครียด เพราะความเครียดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการลมพิษได้ ดังนั้นการออกกำลังกายจึงสามารถช่วยลดความเครียด และยังเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ดี
- ไปพบแพทย์ หากรับประทานยาแก้แพ้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการเป็นๆ หายๆ มากกว่า 2 เดือน หรือมีอาการรุนแรงและบวมคันมากขึ้น พร้อมกับมีอาการหายใจติดขัด หน้ามืดจะเป็นลม ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด
ถึงแม้ว่าลมพิษจะเป็นแค่เพียงอาการของโรคภูมิแพ้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงก็นับว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นเราจึงควรป้องกันหรือใช้วิธีรักษาโรคลมพิษอย่างถูกหลักจะดีที่สุดนั่นเอง